อดีต (แสนหวาน) ของนกจาบปีกอ่อนอกเหลือง

เมื่อไม่นานมานี้ นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Yellow-breasted Bunting; Emberiza aureola) เพิ่งได้รับการปรับสถานภาพด้านการอนุรักษ์ให้เป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (Critically Endangered) ในระดับโลก ทั้งที่จากเดิมเคยเป็นหนึ่งในนกที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

เมืองไทยเรานั้นเป็นแหล่งอาศัยในช่วงฤดูหนาวที่สำคัญที่สุดของนกชนิดนี้มาตั้งแต่อดีต โดยมีบันทึกว่านกจาบปีกอ่อนอกเหลืองเป็นนกที่มีจำนวนมาก พบได้บ่อยทั่วไปแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร

C. J. Aagaard ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Common Birds of Thailand ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2473 ว่านกจาบปีกอ่อนอกเหลืองเป็นนกอพยพย้ายถิ่นที่พบบ่อยในกรุงเทพฯ และพบเป็นจำนวนมาก บางครั้งพบเกาะรวมกันตามกอไผ่ และรั้วต้นไม้รอบนาข้าวนับพันตัว

อย่างไรก็ตาม ต่อมา H. Elliot McClure นักปักษีวิทยาผู้บุกเบิกการศึกษานกในเมืองไทยคนแรกๆ ได้ระบุเอาไว้ในหนังสือ Migration and Survival of the Birds of Asia ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2517 ว่าทุกๆ ปีในประเทศไทยมีนกจาบปีกอ่อนอกเหลืองถูกจับด้วยตาข่ายเป็นจำนวนมากกว่า 2,000,000 ตัว!

นกเหล่านี้ถูกจับแล้วไปไหน? โดยส่วนมากมักถูกนำไปขายเพื่อเป็นนกปล่อยตามวัดหรือศาลเจ้า รวมทั้งถูกนำไปถอนขนทอดเป็นอาหารไม่ต่างจากนกกระจาบ นกกระจอก หรือนกกระติ๊ดอื่นๆ

สาเหตุหลักที่ทำให้นกจาบปีกอ่อนอกเหลืองลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วมาจากการที่นกชนิดนี้อพยพรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ทำให้การจับแต่ละครั้งสามารถจับนกได้ทีละนับร้อยนับพันตัว คาดว่าประชากรของนกจาบปีกอ่อนอกเหลืองจากทั่วพื้นที่ทำรังรอบขั้วโลกเหนือ บินอพยพลงมาอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเมื่อประมาณปี พ.ศ.2512 มีการจับนกจาบปีกอ่อนอกเหลืองตัวหนึ่งได้ในบริเวณภาคกลางของไทย โดยเป็นนกที่ถูกใส่ห่วงขามาจากเมือง Oulu ประเทศฟินแลนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2509

แม้แต่ในปี พ.ศ.2538 นกจาบปีกอ่อนอกเหลืองก็ยังถูกระบุว่าเป็นนกที่พบเห็นได้บ่อยในแปลงนาทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมักพบบินหนีขึ้นมาจากนาข้าวปะปนกับนกกระจอกชวา (Java Sparrow) และนกกระติ๊ดขี้หมู (Scaly-breasted Munia)

ปัจจุบันก็อย่างที่ทราบกันดี นกจาบปีกอ่อนสีสวยนักอพยพชนิดนี้ได้กลายเป็นนกที่พบเห็นไม่บ่อยอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้จะยังมีรายงานในเมืองไทยเป็นประจำทุกฤดูหนาว แต่ก็พบได้อย่างมากที่สุดเพียงหลักร้อย และเหลือเพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่ยังคงพบได้เป็นประจำ การอนุรักษ์นกจาบปีกอ่อนอกเหลืองต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหลายประเทศที่อยู่ในเส้นทางอพยพของนกชนิดนี้ มิเช่นนั้นอีกไม่นานเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นนกชนิดนี้อีกต่อไป…

 

อ้างอิงข้อมูลจาก วารสารนกกางเขน ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 มกราคม พ.ศ.2538