12 วิธีรักษ์นกแสนง่าย ฉบับทำได้เองที่บ้าน

เรียบเรียงโดย: อุเทน ภุมรินทร์
เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของนักชีววิทยาที่ต้องแบกเป้ใบโต เดินทางฝ่าแดดฝน ขึ้นเขา ลงห้วย มุดถ้ำ ฯลฯ เท่านั้น เพราะใครก็เป็นนักอนุรักษ์ได้ทั้งนั้น ไม่เชื่อ! ลองอ่าน 12 วิธีรักษ์นกแสนง่ายที่คุณทำได้ที่บ้าน ดูก่อนสิครับ

1. ป้องกันนกบินชนกระจก (Prevent Bird Collisions with Your Windows)

นกมองไม่เห็นกระจก พวกมันเห็นเฉพาะแต่เงาต้นไม้บนนั้น จึงบินชนกระจก มีการประเมินกันว่า นกที่ชนกระจกมีโอกาสรอดแค่ 50-50 เท่านั้น ในอเมริกาพบว่า แต่ละปีมีนกจำนวนมากถึง 1,000,000,000 ตัว ต้องตาย เพราะบินชนกระจก คุณช่วยมันได้ด้วยการติดผ้าม่าน ติดลวดลายบนกระจกให้นกเห็น

2. ใส่สายจูงสุนัข และเลี้ยงแมวในบ้าน (Protect Birds From Pets)

เพราะการเลี้ยงแมวแบบปล่อย และไม่ใส่สายจูงเมื่อพาน้องหมาออกนอกบ้าน เสี่ยงต่อการที่น้องหมา แมวจะไปจับ หรือทำร้ายนก และสัตว์อื่นในธรรมชาติได้ง่าย (อย่างน้อย ใส่กระดิ่งคล้องคอก็ยังดีจ้ะ ช่วยให้นกรู้ตัวก่อนโดนเจ้าเหมียวขย้ำ)
คลิก! ทำไม? ต้องเลี้ยงแมวในบ้าน และทริคการเลี้ยงแมวในบ้าน แบบเจ้าเหมียวแฮปปี้ http://www.peta.org/living/companion-animals/caring-animal-companions/caring-cats/indoor-cats/

3. ไม่ซื้อหรือสนับสนุนการค้านกป่า (Don’t Buy Illegally Caged Birds)

หากต้องการเลี้ยง ควรซื้อหรือสนับสนุนนกที่ได้จากการเพาะพันธุ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นนกที่นิยมเลี้ยง และมีการเพาะพันธุ์อย่างแพร่หลาย เช่น นกหงส์หยก เลิฟเบิร์ด ฯลฯ

4. จัดทำ “อ่างน้ำเพื่อนนก (bird bath)”

โดยใช้จานรองกระถางใส่น้ำ วางบนกระถางปลูกต้นไม้คว่ำ วางไว้ตามพุ่มไม้ให้เป็นที่หลบของนก อาจหาก้อนหินสวยๆ วางประดับด้านข้างของสระน้ำให้เป็นที่เกาะพักตอนเล่นน้ำ แล้วคอยหมั่นเติมน้ำ ทำความสะอาดให้สม่ำเสมอ

5. ปลูกต้นไม้ให้นก (Planting for birds)

ต้นไม้เป็นทั้งที่สร้างรังเลี้ยงลูก เป็นแหล่งอาหาร และที่หลบภัยให้กับนก เราปลูกต้นไม้ให้นกได้ แถมดึงดูดนกมาให้เราดูถึงหน้าบ้านด้วย เช่น ปลูกชบา หมวกจีน โมก ฯลฯ ไม้ประดับพวกนี้ดึงดูดนกกินปลี–มากินน้ำหวานจากดอกไม้ ปลูกผลไม้ เช่น กล้วย น้อยหน่า มะละกอ หรือแม้แต่พริกขี้หนู ดึงดูดนกกินผลไม้ เช่น นกปรอดหน้านวล ปรอดสวน ฯลฯ

6. ขับรถช้าๆ (Slow Down When Driving)

ในแต่ละปีมีนกจำนวนไม่น้อย ตายเพราะโดนรถชน (เฉพาะในอเมริกา มีนกถูกรถชนตายปีละหลายล้านตัว) เมื่อคุณขับรถ โดยเฉพาะเมื่อขับรถในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ ไม่ควรขับรถเร็วนัก เพื่อให้นกมีโอกาสหนีออกจากถนนได้ทัน

7. รักษาระยะห่าง (Keep Your Distance)

หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้นกในธรรมชาติจนเกินไป เพราะรบกวนกิจกรมตามปกติของมัน เช่น การหาอาหาร การเลี้ยงลูก ฯลฯ และทำให้นกเครียดหรือหลีกเลี่ยงใช้พื้นที่นั้น โดยเฉพาะในช่วงนกทำรังเลี้ยงลูก อาจทำให้นกทิ้งรัง หรือลูกนกตายได้เลย

8. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี (Avoid Chemicals)

เพราะสารเคมีที่เราใช้ ย่อมตกค้างในระบบนิเวศ และส่งผลถึงนกตามห่วงโซ่อาหาร เช่น ยาเบื่อหนู ทำให้นกแสก/ นกเค้าที่กินหนูเป็นอาหารตายอีกต่อหนึ่ง สารเคมี/ ยาฆ่าแมลงในระบบเกษตร ส่งผลต่อการลดจำนวนลงของนกนักล่าหลายชนิด เช่น นกอีเสือหัวดำ เหยี่ยวขาว ฯลฯ

9. คอยดูลูกนกตกรังอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ (Leave Fledglings Where You Find Them)

เมื่อคุณพบลูกนกตกจากรัง หลีกเลี่ยงที่จะเก็บมาเลี้ยงเอง เพราะลูกนกในช่วง “นกเอ๊าะ” ที่ออกจากรังใหม่ๆ ปีกยังไม่กล้า ขายังไม่แข็ง ต้องใช้เวลาเต๊าะแต๊ะใกล้พื้นหลายวันก่อนจะบินได้ แต่มีพ่อแม่นกคอยปกป้องและหัดบินให้ เราช่วยได้ด้วยการเลี้ยงน้องแมว/ หมาไว้ในบ้าน หากคุณพบลูกนกกำพร้าจริงๆ เช่น รังของมันถูกทำลาย และไม่เห็นพ่อแม่นกแถวๆ นั้น หรือแมวไปคาบมา ฯลฯ ติดต่อหน่วยช่วยเหลือนกป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ https://www.facebook.com/WildbirdCareKU/

10. ชวนคนรอบตัวรู้เรื่องนก (Teach Others About Birds)

ชวนเพื่อน หรือคนใกล้ตัว เรียนรู้เรื่องนกไปพร้อมกับเรา ได้ง่ายๆ เช่น แชร์ภาพหรือเรื่องราวนกในเมืองสีสวย กิจกรรมดูนก/ ศึกษาธรรมชาติ หรือบทความนี้–แฮ่ๆ ฯลฯ เมื่อมีคนรู้เรื่องนกมากขึ้น ก็มีคนช่วยกันรักษ์นกมากขึ้นนั่นเอง

11. ออกไปสนุก เรียนรู้ธรรมชาติ (Get Outdoors and Enjoy Nature)

มองหาสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวใกล้บ้านหรือมาร่วมกิจกรรม “Bird walk เดินชมนกในสวน” เป็นประจำทุกเดือนกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) พาเดินชมธรรมชาติฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.bcst.or.th/essential_grid/bird-walk

12. สนับสนุนการอนุรักษ์นก (Support Conservation)

เข้าร่วมหรือสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ฯลฯ เพื่อเรียนรู้เรื่องนก และช่วยอนุรักษ์นก หรือเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครขององค์กรเหล่านี้ ได้ช่วยรักษาถิ่นอาศัยของนกหรือช่วยเหลือนกโดยตรง
แค่นี้ การอนุรักษ์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หรือไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ใครคิดวิธีรักษ์นกวิธีอื่นได้หรือทำตามวิธีที่ผมแนะนำไปแล้ว ส่งภาพมาแบ่งกันชมบ้างนะครับ
*ขอบคุณภาพประกอบ ปลูกต้นไม้ให้นก งามๆ จากอาจาร์ย C&W คุณ Narin Somthas และ คุณ Nopagan Chotecharnont และภาพประกอบอื่นๆ จาก Lannabird_fb และ Wildlife Unit, Veterinary Teaching Hospital, Kasetsart University