ขอความกรุณาหลีกเลี่ยงการไปเยือนเกาะมันใน หากไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ
หลังจากที่ได้ทำการสำรวจนกบนเกาะมันใน นอกชายฝั่ง จ.ระยอง ในวันที่ 9-16 เมษายน 2555 ข้าพเจ้าไม่ได้คาดคิดว่าจะเป็นเหตุให้นักดูนกและนักถ่ายภาพนกเป็นจำนวนมากไปเยือนที่เกาะดังกล่าวด้วย ทางสถานีวิจัยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีความห่วงใยว่าการที่มีคนจำนวนมากบนเกาะอาจก่อให้เกิดการรบกวนธรรมชาติมากเกินไป และส่งผลกระทบต่อโครงการวิจัยต่างๆที่จะมีขึ้นในอนาคต
ข้าพเจ้าเลือกเกาะมันในเป็นสถานที่สำหรับเก็บข้อมูลนกอพยพในภาคตะวันออกของไทยเมื่อได้พิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนแล้วว่ามีโอกาสพบนกอพยพหลายชนิดที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งสมมติฐานนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ในวันที่ 9-16 เมษายน ที่ผ่านมาด้วยรายงานการพบครั้งที่2ในประเทศไทยของนกแต้วแล้วพันธุ์จีน (Fairy Pitta) และนกอพยพที่หายากอีกหลายชนิด เช่น นกแซวสวรรค์หางดำ (Japanese Paradise-flycatcher) จำนวน 13-14 ตัว
ทว่าเกาะมันในไม่ได้เป็นสถานที่เปิดสำหรับการท่องเที่ยว (นอกเหนือไปจากทัวร์ที่พานักท่องเที่ยวมาชมสถานีวิจัยและบ่อเลี้ยงลูกเต่าทะเลที่บริเวณท่าเรือ) ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งให้ความร่วมมือกับข้าพเจ้าและทีมนักวิจัยเป็นอย่างดีก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาความเหมาะสมในการอนุญาตให้เข้าพื้นที่เพื่อการวิจัยในอนาคต เนื่องจากการที่มีนักดูนกและนักถ่ายภาพนกไปเยือนจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดการรบกวนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่นักถ่ายภาพนกหลายท่านได้มีส่วนในการเพิ่มเติมองค์ความรู้ทางปักษีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักถ่ายภาพนกรายงานข้อมูลนกมายังคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลนก (BCST Records Committee) ข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีหลายท่านได้พบนกหายากและนกที่มีข้อมูลน้อยหลายชนิด (ซึ่งรวมไปถึงนกแต้วแล้วพันธุ์จีนที่น่าจะพบอีก 2-3 ตัวบนเกาะมันในหลังจากตัวที่ถูกใส่ห่วงขาไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน) ทำให้มีคนจำนวนมากต้องการที่จะพบและถ่ายภาพนกเหล่านั้นด้วยตัวเองเช่นกัน
จึงใคร่ขอความร่วมมือจากนักดูนกและนักถ่ายภาพนกทุกท่านให้หลีกเลี่ยงการไปเยือนเกาะมันในโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเสียก่อน ด้วยเกรงว่าจะไม่มีนักดูนกและนักถ่ายภาพนกได้รับอนุญาตให้เข้าเกาะมันในอีกเลยในอนาคต
ข้าพเจ้าขอเสนอเกาะมันนอกที่ตั้งอยู่ใกล้กันเป็นอีกทางเลือก เนื่องจากเกาะแห่งนี้มีปริมาณนกอพยพที่หายากเป็นจำนวนทัดเทียมหรืออาจจะมากกว่าเกาะมันในเสียอีก นอกจากนี้เกาะมันนอกยังมีสถานที่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรมค้างคืน นักดูนกและนักถ่ายภาพนกจึงน่าจะลองมองหานกอพยพบนเกาะมันนอกหรือเกาะอื่นๆในอ่าวไทย เช่น เกาะสีชัง เกาะเสม็ด เกาะช้าง และเกาะกูด ซึ่งล้วนมีศักยภาพที่จะพบนกอพยพหายากและนำมาซึ่งข้อมูลที่มีคุณค่าได้ไม่แพ้กัน
ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ
ฟิลิป ดี ราวด์
___________________________________________________________________
ถอดความเป็นภาษาไทยโดย วิชญนันท์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ
อ่านแถลงการณ์ต้นฉบับได้ที่ http://www.bcst.or.th/?p=929&lang=en
Trackbacks
There are no trackbacks on this entry.
Comments
There are no comments on this entry.